กาฬสินธุ์-เดินหน้าพัฒนาคุณภาพการศึกษาสภาพัฒนาการศึกษา

กาฬสินธุ์-เดินหน้าพัฒนาคุณภาพการศึกษาสภาพัฒนาการศึกษา

กาฬสินธุ์ ร่วมกับสมาคมไทบ้าน องค์การแอคชั่นแอดประเทศไทย และสหภาพยุโรป (EU) จัดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School Project) ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน ตั้งเป้าหมายขยายเครือข่ายสถานศึกษาขนาดเล็กทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 200 แห่ง
วันที่ 23 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องดอกเกด โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายเพิ่มพูน พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานจัดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School Project) หรือชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายอุทัย แก้วกล้า ประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์พร้อมด้วย ดร.นุชรัตน์ ประสิทธิ์ศิลป์ชัย ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามศึกษานิเทศก์ จ.กาฬสินธุ์ นายพัชกร พัทธวิภาส ผู้จัดการโครงการ ACCESS School Project นายทรงเดช ก้อนวิมล เลขานุการฯ และคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา ร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
นายอุทัย แก้วกล้า ประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของไทย อยู่ในเกณฑ์ด้อยกว่าบางประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาตามชุมชนที่มีขนาดเล็ก สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ มองเห็นว่าแนวทางที่จะยกระดับและพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นนั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จึงได้ร่วมกับสมาคมไทบ้าน องค์การแอคชั่นแอดประเทศไทย และสหภาพยุโรป (EU) จัดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School Project) หรือชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มจัดตั้งในปี 2557 และขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2560
ด้านนายเพิ่มพูน พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตและสังคม แต่การที่จะยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะภาคประชาคม ซึ่งมีความอิสระในการขับเคลื่อนได้รวดเร็วกว่าภาคราชการ ดังนั้น การจัดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School Project) หรือชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชนดังกล่าว โดยมีการจัดเวทีเสวนา ประเด็นภาคประชาสังคมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไรต่อการจัดการศึกษา มีการแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ในการที่จะพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและมีคุณค่ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ คณะทำงานมาจากภาครัฐและเอกชนหรือภาคประชาสังคม มีเป้าหมายในการดำเนินงานคือการพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ ให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาด้วยวิถีโรงเรียนและชุมชนสู่ความยั่งยืน ปัจจุบันมีสถานศึกษานำร่องและต้นแบบร่วมโครงการ 20 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายขยายเครือข่ายสถานศึกษาขาดเล็กทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในปี 2556 จำนวน 200 แห่ง
/ ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

Related posts