หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เสด็จบำเพ็ญกุศล เททองหล่อพระพุทธรูปประจำองค์ ทรงประทานถวายนามว่า “พระชัยอัปสรอุทัยกัญญา” (ชมคลิป)

หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เสด็จบำเพ็ญกุศล เททองหล่อพระพุทธรูปประจำองค์ ทรงประทานถวายนามว่า “พระชัยอัปสรอุทัยกัญญา”

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=XOYs89hjBfM[/embedyt]

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2564 “หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ” ทรงกรุณาเสด็จบำเพ็ญกุศล ในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปประจำองค์ ขนาดหน้าตัก 12นิ้ว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดหัวดอน ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

โดยประวัติ “วัดหัวดอน” นามเดิมชื่อ “วัดศรีสมพร” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมา
เปลี่ยนชื่อวัดในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ตาม พรบ.ปกครองคณะสงฆ์ปี พ.ศ.๒๔๘๔ เปลี่ยนตามชื่อหมู่บ้าน คือ
“บ้านหัวดอน” เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำ จึงได้ชื่อว่า “วัดหัวดอน” มาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๓ หมู่ 4 บ้านหัวดอนใหญ่ ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีเนื้อที่ ๙ ไร่ ได้รับ “วิสุงคามสีมา” วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๕ มีอดีตเจ้าอาวาสคือ


๑. พระมหาสุขุม (ไม่ทราบฉายา)
๒. พระมหาหนู อกปญาโน
๓. พระสุรศักดิ์ ผิวงาม
๔. พระทอง (ไม่ทราบฉายา)
๕. พระคำสา ผิวแดง
๖. พระครูพนมธรรมกิต (หลวงพ่อทา)
๗. พระครูปัญญาพัฒนคุณ (หลวงพ่อมาย) พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๕๕
๘. พระครูสังฆรักษ์สิรภพ ฐิตสีโล เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ประวัติอ้างอิงในการสร้าง “พระชัยอัปสรอุทัยกัญญา”ในอดีตเดิม “นายโพ” เป็นนายตำรวจ ชาวอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ได้สมรสกับหญิงสาวชาวบ้านหัวดอน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยแต่เดิม “นายโพ”เคยบวชเรียนก่อนมารับราชการเป็นตำรวจ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ “นายโพ”ได้มีศรัทธารวบรวมของมีค่าที่สั่งสมมา และชักชวนชาวบ้านหัวดอนร่วมบริจาคทรัพย์สิน เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เป็นต้น เพื่อรวบรวมไปหล่อองค์พระที่ “วัดโพธิ์เครือ” บ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งมี “พระครูสอน” (ชาวไทญ้อ) เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีวิชาศิลปการช่างหล่อพระแบบโบราณ และมีวิชาอาคมแกร่งกล้ามาก เป็นที่เคารพนับถือในสมัยนั้น ผู้คนต่างพากันให้ความเคารพท่านมาก

ในการนี้ท่านได้นำสิ่งของมีค่านำไปหล่อพระดังกล่าวในคราวนั้นสามารถหล่อพระได้ ๒ องค์ คือ (๑) องค์ขนาดใหญ่ หน้าตัก 14 นิ้ว ได้ถวายนามว่า “พระศรีสมพร” (๒) องค์ขนาดเล็ก หน้าตัก 9 นิ้ว ถวายนามว่า “พระชัยอัปสร” (พระชัยหลังช้าง ใช้แห่ในงานมงคลต่างๆ เช่น งานสงกรานต์) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อสัมฤทธิ์แก่ทองคำศิลปะล้านช้าง ซึ่งปัจจุบันพระสกุลช่างพื้นถิ่นของชาวไทญ้อ ปัจจุบันเหลือเพียง “พระศรีสมพร” ส่วน “พระชัยอัปสร” ได้หายไปตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว


ปัจจุบันพระพุทธรูป “ศรีสมพร” เป็นพระคู่ “วัดหัวดอน” มาจนถึงปัจจุบัน และได้ถวายพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระนางพญาศรีสมพร” มูลเหตุที่มีคำว่า “สมเด็จพระนางพญา” นำหน้าชื่อพระพุทธรูป “ศรีสมพร” เนื่องจากว่าปีที่สร้างพระศรีสมพรนั้นคือปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นับเป็นปีประสูติของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ” ทางวัดจึงได้ขอถวายเป็นพระราชกุศล ได้ชื่อที่ไพเราะงดงาม ตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปองค์นี้ว่า “สมเด็จพระนางพญาศรีสมพร”


และ “พระชัยอัปสร” นั้น ได้มีการเททองหล่อ หลังจากสร้าง “พระศรีสมพร” ๑ ปี คือ พ.ศ.๒๔๗๖ แต่ปัจจุบันได้หายไปจาก “วัดหัวดอน” ด้วยเหตุนี้ “พระครูสังฆรักษ์สิรภพ ฐิตสีโล” เจ้าอาวาสวัดหัวดอนรูปปัจจุบัน จึงมีดำริกับชาวบ้าน คณะศรัทธาวัดหัวดอน มีความเห็นว่าควรจะหล่อ “พระชัยอัปสร” ขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่กราบไว้สักการะบูชา เป็นพระพี่ พระน้องคู่กันกับ “พระศรีสมพร” จึงได้มีความเห็นชอบ ทำหนังสือขึ้นทูล “หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ” เชิญเสด็จเป็นองค์ประธานเททองหล่อ “พระชัยอัปสร” เนื่องด้วยแต่เดิม “พระชัยอัปสร” นั้น ได้เททองสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งเป็นปีประสูติของ “หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์” และขอประทานอนุญาตเชิญพระนามสถิตร่วมชื่อพระ โดยมีพระนามว่า “พระชัยอัปสรอุทัยกัญญา” เพื่อเป็นศิริมงคล เป็นมิ่งขวัญ แก่ “วัดหัวดอน” และชาวบ้าน พุทธบริษัทที่เข้ามาทำบุญแก่วัดหัวดอน สืบต่อกาลนาน

ท้ายนี้ขอเชิญร่วมทำบุญได้ที่ “พระครูสังฆรักษ์สิรภพ ฐิตสีโล” เจ้าอาวาสวัดหัวดอน หรือโอนเงินที่ 103-1-75118-3 ธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี พระครูสังฆรักษ์สิรภพ จาริอุต

**อ้างอิงประวัติพระโบราณจาก
๑) พระวิชัยธรรมคณี วิ. (หลวงพ่อเทพา) เจ้าคณะจังหวัดบึงกาฬ เจ้าอาวาสวัดเซกาเจติยาราม (พระอารามหลวง) เป็นผู้เล่าประวัติพระพุทธรูปโบราณ เป็นพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระพุทธรูปโบราณ
๒) จากพระพุทธรูปสองพี่น้อง วัดศรีบุญเรือง บ้านเพีย อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร
๓) ประวัติเจ้าอาวาสวัดโพธิ์เครือมีพระครูสอนเป็นผู้เก่งกล้าในวิชาช่าง และอาคมในสมัยนั้น
***พระครูสังฆรักษ์สิรภพ ฐิตสีโล เจ้าอาวาสวัดหัวดอน เป็นผู้เรียบเรียง ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

 

Related posts