จับตา!“จุรินทร์”เปิดฉาก ประชุม STEER ความร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 6 ดันยกระดับ ลงทุน-เกษตร-ท่องเที่ยว-ทรัพย์สินทางปัญญาไทย

จับตา!“จุรินทร์”เปิดฉาก ประชุม STEER ความร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 6 ดันยกระดับ ลงทุน-เกษตร-ท่องเที่ยว-ทรัพย์สินทางปัญญาไทย

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 เวลา 9.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore–Thailand Enhanced Economic Relationship หรือ STEER) ครั้งที่ 6 ระดับรัฐมนตรี ร่วมกับ ดร. ตัน ซี เหล็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่สองของสิงคโปร์ ที่โรงแรม สยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปีนี้ครบรอบ 20 ปีพอดีที่การประชุม STEER ได้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคี ระหว่างไทยและสิงคโปร์ ในหลากหลายสาขา อาทิ สินค้าเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการประชุมทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ปัจจุบันสิงคโปร์มีนักลงทุนที่มาลงทุนในประเทศไทยถือเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 5 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของไทยในอาเซียนรองจาก มาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย และเป็นอันดับที่ 8 ของไทยในโลก

“ที่ผ่านมาเราล้วนเผชิญท้าทายปัญหาระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และเงินเฟ้อ รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านการค้าและการลงทุนที่มีกฎกติกาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งไทยและสิงคโปร์สามารถฟันฝ่าผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ด้วยกันปัจจุบันถือว่าเป็นโอกาสดีที่ไทยกับสิงคโปร์จะมีการประชุมร่วมกันในเวที STEER ในวันนี้ เพื่อใช้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกันของทั้งสองประเทศซึ่งจะได้หารือในรายละเอียดกันต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ในระหว่างการประชุม STEER กระทรวงพาณิชย์จะจัดให้มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ระหว่างผู้ส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เช่น สินค้าโปรตีนจากพืช เนื้อสัตว์ทางเลือก และอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติ กับผู้นำเข้าสิงคโปร์ รวมทั้งมีการลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของไทยและสิงคโปร์ 5 ฉบับ

อาทิ ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ ความร่วมมือสินค้าเกษตร และความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภาคเอกชนสองฝ่ายด้วย เพื่อเร่งหารือและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน อาทิ เกษตรและเกษตรนวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน ท่องเที่ยว และทรัพย์สินทางปัญญา  ทั้งนี้ การประชุมนี้ถือเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับรัฐมนตรีของฝ่ายไทยและสิงคโปร์ โดยถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2560

Related posts