“อลงกรณ์”ปาฐกถานานาชาติชูนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 ยกระดับการผลิตภาคเกษตรของไทยสู่เป้าหมาย 3 สูง “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง”ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจใหม่ BCG โมเดล

“อลงกรณ์”ปาฐกถานานาชาติชูนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 ยกระดับการผลิตภาคเกษตรของไทยสู่เป้าหมาย 3 สูง “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง”ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจใหม่ BCG โมเดล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 ได้ให้เกียรติ เป็นองค์ปาฐกในงานการอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วย “การจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะอย่างยั่งยืน” (Sustainable Smart Farming Workshop) จัดโดย SUNSpACe ERASMUS+ CBHE Project ณ Bamboo Whisper Garden เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยมี นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร CTPI, Professor Yacine Ouzrout, Director of IUT, University Lumiere Lyon 2 และ Professor Aicha SEKHARI SEKLOULI, ผู้ประสานงานโครงการ SUN Space ให้การต้อนรับ


นายอลงกรณ์ ได้กล่าวปาฐกถาว่า ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ภาคเอกชน ภาควิชาการ นานาชาติ ให้ความสนใจและขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน และมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะอย่างยั่งยืน” เป็นแนวทางหรือเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “3S” คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงของภาคเกษตรและอาหาร (Security) และความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) สนับสนุนการเปิดตลาดต่างประเทศใหม่ ๆ โดยกำหนด Model การค้าเพื่อให้เกิดระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) รวมถึงการนำเทคโนโลยี Smart Farming มาใช้ในการพัฒนา Packaging และสร้างแบรนด์อีกด้วย

โดย ได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (Agritech and Innovation Center: AIC) ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นศูนย์การศึกษา การวิจัยและพัฒนา การอบรมบ่มเพาะและ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร รวมทั้งยังจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Execellence: CoE) จำนวน 23 ศูนย์ ที่มีการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานการเกษตร ตั้งแต่ ต้นน้ำด้านการวิจัยและพัฒนา กลางน้ำ ด้านการแปรรูป และปลายน้ำ ด้านการตลาด การขาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคี เครือข่ายทั้งภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมช่องทางการตลาด “ตามนโยบายการตลาด นำการผลิต” ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนทั้งการค้าออนไลน์และออฟไลน์

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG Model (the Bio-Circular and Green Economic Model) ภายใต้เป้าหมายและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนซึ่งเป็นไฮไลต์ในการจัดประชุมAPECที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตภาคเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และ รายได้สูง ซึ่งประสิทธิภาพสูง คือการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมยกระดับผลผลิตเกษตร มาตรฐานสูง ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพผลผลิต โภชนาการมีความปลอดภัย ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และ รายได้สูง ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมียม หรือตลาดเฉพาะ และสามรถกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร เพื่อให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคง

ทั้งนี้ในงาน Sustainable Smart Farming Workshop เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ได้มีการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ในช่วงเช้าเป็นสัมมนาในหัวข้อ 1) Smart Farming: Economic Challenges for the future และในช่วงบ่ายในหัวข้อ 2) Smart Farming: Up-Skilling and Qualification
อนึ่ง โครงการ SUNSpACe (Sustainable Development Smart Agriculture Capacity) เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอีราสมุสพลัส รูปแบบ Capacity Building in Higher Education Projects (CBHE) โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 8 มหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ทั้งในเอเชียและยุโรป ฝรั่งเศส สกอตแลนด์ ฮังการี ไทย ภูฏาน และเนปาล เน้นการพัฒนาและออกแบบหลักสูตรจากองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทางยุโรป ผสานกับจุดแข็งและความท้าทายด้านเกษตรกรรมในเอเชีย นำไปสู่การอบรมและสร้าง Smart Farmer ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทำเกษตรแบบออร์แกนิก และช่วยให้เกษตรกรในเนปาลและภูฏานสามารถทำเกษตรทั้งในและนอกฤดูได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ในขั้นตอนการทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบหลักสูตรที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

Related posts