“ โง่, จน ,เจ็บ ” คือสามปัญหาหลัก ที่ ยังเป็น”โจทย์”สำคัญสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้

รายงานพิเศษ  “ โง่, จน ,เจ็บ ” คือสามปัญหาหลัก ที่ ยังเป็น”โจทย์”สำคัญสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้

 


“โง่” คือปัญหาของการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ไข แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอดทุกรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ซึ่งในยุคของ คสช. มีการใช้งบประมาณมากมายเพื่อการแก้ปัญหาการศึกษา จนมีการตั้งกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้าขึ้น แต่สุดท้าย วันนี้ กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า ก็ไม่ได้แก้ปัญหาของการศึกษาได้ตรงประเด็น และนอกจากแก้ไม่ได้ ยังปล่อยให้มีการ”ทุจริต” มีการ แสวงหา ผลประโยชน์ จากงบประมาณ มีการ” เอาผิด” ทาง กฎหมาย มีการ “เอาผิด” กับ เจ้าหน้าที่บุคลากรการศึกษา ที่ยังคง”คาราคาซัง” จนถึงบัดนี้
มีการพูดกันทุกยุคทุกสมัยว่า ถ้าต้องการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นให้ได้ ต้องแก้ที่การศึกษา ต้องทำให้คน “ฉลาด” รู้เท่าทันคน จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของ” กลุ่มคนที่ไม่หวังดี” และคนที่ฉลาด จะสามารถ พัฒนาอาชีพ พัฒนาตนเอง และ รวมพัฒนามาตุภูมิอย่างได้ผล แต่สุดท้าย การแก้ปัญหาการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังอยู่ใน”วังวน”เก่าๆ นั้นคือ แก้โดยหวังผลประโยชน์มากกว่าที่จะให้คน”โง่” กลายเป็นคน ฉลาด เพราะสุดท้ายแล้ว แค่ปัญหา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รัฐก็ยังไม่สามารถ ควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยได้ ในขณะที่ โรงเรียนของรัฐ กำลังหมดสภาพ ถูกยุบไปเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถ แข่งขันกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพราะไม่มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับ วิถีวัฒนธรรม ของคนในพื้นที่

 


“จน” นี่คือประเด็นสำคัญที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการ แก้ปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ที่นำคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน”เปราะบาง” หรือคนที่ยากจน ที่ หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อหลายวันก่อน เป็นภาพที่ชัดเจนว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังมีคนจนที่ช่วยตนเองไม่ได้อยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งหากดูตัวเลขที่เรียกให้” ไพเราะ” ไม่ “แสลงหัวใจ” ว่าเป็นกลุ่มคนที่”มีรายได้น้อย”ซึ่งก็คือ”คนจน” นั่นเอง ซึ่งเกณฑ์ของการเป็น”คนจน”คือ มีรายได้ปีละไม่เกิน 100,000 บาท หรือเดือนละ 8,200 บาท ซึ่งมีการสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา ใน จ.ยะลา 8 อำเภอ จ.นราธิวาส 13 อำเภอ และ จ.ปัตตานี 12 อำเภอ รวมกัน 320,000 คน เป็น 320,000 คน ต่อประชากร 2,000,000 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยสำหรับแผ่นดินที่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ที่ยังมีเสียงปืน เสียงระเบิด และเกิดการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น อุปสรรค สำหรับของหน่วยงานการพัฒนา ที่หน่วยงานในพื้นที่ มักจะอ้างมาตลอด 16 ปี ที่มีการ ก่อความไม่สงบว่า พื้นที่ไม่ปลอดภัย ไม่สามารถที่จะดำเนินการพัฒนาได้อย่างเต็มที่
และจากปัญหา”โควิด 19” ที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้ปัญหาของ “คนจน” เพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวเลขจากหน่วยงานของรัฐ ที่ระบุว่า จากกรณี”โควิด 19” ทำให้ คนว่างงานใน 3 จังหวัดเพิ่มขึ้นอีก 30,000 คน โดยมีผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย คนเหล่านี้ เป็นแรงงาน ในประเทศมาเลเซีย ที่ต้องเดินทางกลับบ้าน และ”ตกงาน” จงกลายเป็น”คนจน” อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เพิ่มเติม ขึ้นมา

 


“เจ็บ” คือเรื่องของ”สุขอนามัย” หรือ “สาธารณสุข” ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งวันนี้ แม้จะมี โรงพยาบาลตำบล หรือที่เรียกว่า”รพ.สต.เกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถ”รับมือ” กับความ เจ็บป่วย”ของคนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ คุณภาพชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในสภาพที่”ย่ำแย่” กว่าคนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเกิดจากความ”ยากจน” เกิดจากความเชื่อเรื่อง”ศาสนา” ที่ผิดๆ นั้นคือปัญหาข้อแรกที่มาจาก”โง่” หรือการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้คนฉลาดขึ้น

เรื่อง “เจ็บ” วันนี้กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีการพบว่า เด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นโรค”เอธิโอเปีย” ทั้งที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีภาวะสงคราม ไม่มีการอดยากเหมือนใน”เอธิโอเปีย” หรือใน”แอฟริกา” แต่ เด็กๆ ใน 3 จังหวัดกลายเป็นโรค”เอธิโอเปีย” หรือโรคขาดสารอาหาร ซึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือโรคขาดสาร”โปรตีน” นั่นเอง
และนอกจากโรคขาดสาร”โปรตีน” คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นโรคต่างๆ อีกมากมาย ที่กลายเป็นเครื่อง”บั่นทอน”คุณภาพชีวิตของผู้คนให้ตกอยู่ใน”วังวน”ของความ”ตกต่ำ”ของสังคมแห่งความ”โง่,จน,เจ็บ” ที่แท้จริง
เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานด้านพัฒนาอย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ดังนั้นปัญหา”โง่,จน,เจ็บ” ถึงถูกตั้งคำถามว่า ศอ.บต. จะแก้อย่างไร ทั้งที่บางปัญหา เช่นเรื่อง การศึกษา วันนี้ ก็ไม่ใช่หน้าที่หลักของ ศอ.บต.แล้ว เพราะ มีกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า เป็นผู้รับผิดชอบ เช่นเดียวกับเรื่อง”เจ็บ” หรือ เรื่อง สุขอนามัย ก็ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ ศอ.บต. แต่ ศอ.บต. ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบเพราะเป็น หน่วยงานหลัก ที่ทำหน้าที่เหมือนรัฐบาลท้องถิ่น ที่ต้องเป็น”ด่านหน้า” ในการ รับมือกับ ทุกปัญหาทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับพื้นที่รับผิดชอบ โดยไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้แต่เรื่องเดียว
ดังนั้นในแต่ละวัน ถ้าติดตาม ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของ ศอ.บต. จะเห็นว่า ทั้งตัวของ เลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และ ผอ.สำนักต่างๆ ต้องลงพื้นที่ ในการ ขับเคลื่อนงานในทุกด้าน เช่น ช่วยเหลือเบื้องต้น กับกลุ่มเปราะบาง คนยากจน การ ผลักดันโครงการ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาแผนใหม่ การส่งเสริมให้ความรู้กับกลุ่มต่างๆ การ ผลักดัน พื้นที่ปลอดภัย ให้เป็นพื้นที่ ท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
ซึ่ง พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) กล่าวว่า ศอ.บต. ไม่สามารถที่จะ ปฏิเสธความรับผิดชอบ ความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ ที่ผ่านมาหลายปัญหามีความสำเร็จ เช่นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวใน อ.เบตง จ.ยะลา การสร้างอาชีพใหม่ให้กับเกษตรกรให้มีทางเลือกที่มากกว่า ปลูกยางพารา และ ลองกอง การเกิดโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ๆในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่ได้งานทำ โครงการ “สตาร์ทอัพ” เพื่อการสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่ การส่งเสริมอาชีพให้กับคนที่ไม่มีงานทำ เพื่อสร้างอาชีพที่มีตลาดรองรับ เช่นคนที่กลับจาก มาเลเซีย เพื่อให้เขามี วิชาชีพ ที่จะกลับไปทำงานได้อีกครั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังมาเลเซียเปิดประเทศ
โดยเฉพาะคนที่ลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยจำนวน 320,000 คน นั้น วันนี้ ศอ.บต.มีแผนงานอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะลดจำนวนผู้มีรายได้น้อยให้ค่อยๆลดลง เราใช้ทุก”มิติ” ทุก วิธีการ ที่จะ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ให้ดีขึ้น ซึ่งหากไม่มีเรื่องของ”โควิด 19” เข้ามา “สอดแทรก” งานการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงจะขับเคลื่อนไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งเรื่องการค้าชายแดน โดยการเชื่อมโยงด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านให้ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน แต่เมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคจาก”โควิด 19” ก็มีการปรับแผนการพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่นี่ที่ ศอ.บต. เราทำงานเต็มที่ ทำแบบไม่มี ย่อท้อ ต่อปัญหา และ อุปสรรค
ก็ได้แต่หวังว่า ปัญหา “โง่,จน,เจ็บ” ที่ เกาะแน่นอยู่กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานแสนนาน แม้จะแก้ไม่ได้ทั้งหมด และแก้ไม่ได้อย่างรวดเร็ว แต่คนในพื้นที่ก็คาดหวังว่า ในยุคสมัยที่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เป็น เลขาธิการ ศอ.บต. ทุกปัญหาจะได้รับการแก้และจบลงที่คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต้องดีขึ้นกว่าเดิม

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Related posts