เตรียมความพร้อมการเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เตรียมความพร้อมการเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 เวลา 09.00 น. ณ โรงเรมนูโวซิตี้ กรุงเทพมาหนคร นายวิเชียร หัสถาดล ประธานฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เข้าร่วมเวทีเตรียมความพร้อมการเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ สปสช.

นางบำรุง ชลอเดช สำนักสนับสนุนคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการ สปสช. กล่าวถึง การจะเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ ต้องเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขอื่นตามที่บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศเพิ่มเติม ซึ่งปี 2562 ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปได้รับการประกาศ ให้เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขอื่น ส่งผลให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปสามารถเข้ามาเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ สปสช.ได้ หากศูนย์ดังกล่าวจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้ตามเกณฑ์รายการและราคาที่ สปสช.กำหนด โดย สปสช.ต้องกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบ 18 คลีนิค สปสช.จะนำระบบแอปพลิเคชั่นมาใช้ มีการพิสูจน์ตัวตนผู้มารับบริการ และจะเชื่อมระบบจากหน่วยร่วมให้บริการมายัง สปสช.แบบ real time
นางจุฬาพลอย ตังเต็มโรจนะ สำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สปสช. กล่าวถึง แนวทางสนับสนุนให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปเข้ามาเป็นหน่วยร่วมบริการ โดยศูนย์บริการฯ ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและมีนักวิชาชีพเป็นผู้ให้บริการ สามารถจัดบริการได้เลย ส่วนศูนย์บริการฯ ที่ผู้ให้บริการไม่ใช่นักวิชาชีพ ต้องไปพัฒนาหลักสูตรการให้บริการโดยมีหน่วยงานระดับกรมเป็นผู้รับรองหลักสูตร และผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรมหลักสูตรก่อนจึงจะจัดบริการได้ เริ่มนำร่องการบริการฟื้นฟูทักษะการดำรงชีวิตอิสระ (IL) 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์จังหวัดนนทบุรี ชลบุรี และปทุมธานี อย่างไรก็ตามการจัดบริการฟื้นฟูฯ จะจัดได้เพียง 9 รายการตามที่ สปสช.กำหนดเท่านั้น หากต้องการจัดบริการนอกเหนือจากนี้ สามารถจัดทำเป็น project base ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัดได้ ปัจจุบันมีประมาณ 47 จังหวัด
นางสุนทรี หัตถีเซ่งกิ่ง ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามาร่วมจัดบริการ พร้อมทั้งให้กำลังใจเครือข่ายคนพิการในการขับเคลื่อนและดำเนินงานในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีเครือข่ายเอดส์และเครือข่ายผู้ป่วยแบบประคับประคอง(ผู้ป่วยระยะสุดท้าย) ที่จะดำเนินการตามแบบของเครือข่ายคนพิการด้วย
นางกิจจาพร ชื่นบุญ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) ได้นำเสนอประสบการณ์ความพยายามขับเคลื่อนร่วมกับ สปสช.ที่จะให้ผู้ปกครอง พ่อแม่ที่มีประสบการณ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้การเป็นผู้ให้บริการจัดบริการฟื้นฟูฯ ใหักับเด็กออทิสติก โดยมีการพัฒนาหลักสูตรและเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการจัดบริการ แต่ประสบปัญหาว่าต้องยุติไปเนื่องจากการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร สปสช.จึงขาดการเชื่อมต่องาน สำหรับสมาคมฯ มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปหลายแห่งในหลายจังหวัด ซึ่งมีความสนใจที่จะเป็นหน่วยร่วมให้บริการ แต่ขอดูแนวทางตัวอย่างของศูนย์ IL นำร่องก่อน และขอฝากให้ สปสช.ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือขั้นตอนที่เป็นอุปสรรค เพื่อสนับสนุนให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปสามารถเข้าร่วมเป็นหน่วยร่วมให้บริการได้
นายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย ได้กล่าวถึง ความจำเป็นของการแยกประเภทความพิการออกเป็น 7 ประเภท เพื่อให้เข้าใจลักษณะและความต้องการของคนพิการ แต่ในการทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ ทุกองค์กรมาขับเคลื่อนร่วมกันเป็นเครือข่าย พร้อมทั้งให้กำลังใจเครือข่ายคนพิการว่าการที่จะเป็นหน่วยร่วมให้บริการ ของ สปสช. อาจจะไม่ได้ง่ายและต้องดำเนินงานที่เป็นระบบ ตามระบบของ สปสช. แต่ขอให้ทุกคนพยายาม เพราะการเข้าสู่ระบบจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการทำงานจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่คนพิการ และมีงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่าย อาจจะถูกกำกับ/ตรวจสอบ แต่ก็เป็นไปเพื่อให้ผู้รับบริการซึ่งเป็นคนพิการได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

Related posts