“อลงกรณ์”เผยโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาลใน3จังหวัดภาคใต้คืบหน้าเตรียมสรุปเสนอ”รัฐมนตรีเฉลิมชัย”
หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลเจาะตลาดโลก2พันล้านคนตอบโจทย์ยุคโควิด พร้อมเปิดตัวระเบียงเศรษฐกิจลิมอร์ดาซาร์เวอร์ชั่นใหม่5-5-5ผนึกความร่วมมือไทย-มาเลเซีย ส่วนปัญหาเนื้อวัวปลอมคลี่คลายหลังระดม10หน่วยงานใช้5มาตรการเร่งด่วนจัดการโดยยังเฝ้าระวังค้าออนไลน์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 5/2563 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ (18 ก.ย.) ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่วางเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลก รวมทั้งเป็นฮับของสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล มีคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อขับเคลื่อนได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” 2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” 3. คณะอนุกรรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และ 4. คณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งการประชุมในวันนี้ คณะอนุกรรมการได้รายงานผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาล ซึ่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนฯ แจ้งว่า รูปแบบโครงการและแนวทางการลงทุนเสร็จแล้วกำลังคัดเลือกพื้นที่ของโครงการ 3 แห่งที่เสนอมาใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยตนจะลงไปดูพื้นที่ด้วยตัวเองในต้นเดือนหน้าก่อนสรุปเสนอรายงานต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมโยงกับชุมชนเกษตรในพื้นที่ทั้งการผลิตพืชปศุสัตว์และประมง เพื่อสร้างงานสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฮับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาล มุ่งเจาะตลาดมุสลิมกว่า 2 พันล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง อาเซียนและจีน
นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าในการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”และกรอบแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมเช่นกัน ทุกคณะอนุกรรมการฯ พยายามเร่งรัดดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังให้เริ่มขับเคลื่อนโครงการระเบียงเศรษฐกิจลิมอร์ดาซาร์ (Limor Dasar) เวอร์ชั่นใหม่ 5-5-5 บนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของ 5 จังหวัดใต้สุดของไทย (ปัตตานี-นราธิวาส-ยะลา-สตูล-สงขลา)กับ 5 รัฐทางเหนือของมาเลเซีย (กลันตัน-เคดะห์-เปรัค-เปอร์ลิส-ปีนัง) ในความร่วมมือ 5 สาขา คือ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาล เป็นการรื้อฟื้นโครงการนี้ที่เคยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ระหว่างปี 2551 – 2554 ซึ่งในการขับเคลื่อนครั้งนี้จะผนึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สถาบันฮาลาล (Halal Institute) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือศูนย์ AIC หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์โลจิสติกส์ สมาพันธ์เอสเอ็มอี สมาคมท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน อปท. จังหวัด และ ศอบต.
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอม ว่าปัญหาได้คลี่คลายลงจนน่าพอใจแต่ยังให้สืบสวนสอบสวนและเฝ้าระวังการค้าออนไลน์หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิม เดินหน้า 5 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1) มาตรการสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภค 2) มาตรการป้องปรามผู้ค้า 3) มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิด โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยกว่า 13 แห่ง และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอำนวยความสะดวกให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4) มาตรการส่งเสริมมาตรฐานฮาลาล และ 5) มาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Tracebility) จากโรงฆ่าสัตว์ถึงผู้บริโภค ดำเนินการตามเป้าหมาย 300 แห่งทั่วประเทศแล้ว