ฮือฮา!! ปลาหน้าตาประหลาด นายอำเภอเกาะลันตาเผย เป็นปลาคางคก หรือปลาโปะ หาดูยากมักอาศัยตามโขดหิน (ชมคลิป)

กระบี่-ฮือฮา ปลาหน้าตาประหลาด นายอำเภอเกาะลันตาเผย เป็นปลาคางคก หรือปลาโปะ หาดูยากมักอาศัยตามโขดหิน

 

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=LomQ6PJKcEo[/embedyt]

 

เมื่อวันที่ 19 พย.63 นายสมบูรณ์ เต็มชื่น นายอำเภอเกาะลันตา จ.กระบี่ โพสต์คลิปของปลาชนิดหนึ่ง พร้อมระบุว่า ปลาอะไรหน้าตาประหลาด ยกไซได้ที่กระชังปลาคลองทราย หลังบ้านพักนายอำเภอเกาะลันตา ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งก็มีผู้เข้าไปแสงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยปลาดังกล่าวนั้นหน้าตาคล้ายสัปปะหลาดในภาพยนตร์เลยทีเดียว


ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายสมบูรณ์ เผยว่า วันนี้ได้ลงไปดูชาวประมงยกไซที่วางไว้ข้างกระชังปลา ผลปรากฏว่าได้ปลาตัวดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งตนก็ไม่เคยเห็น หน้าตาหน้ากลัวคล้ายหน้าคนปากกว้าง ผิวขรุขละ มีปุ่มขึ้น จนได้สอบถามจึงทราบว่า เป็นปลาโปะ ที่ชาวบ้านเรียกกัน และชื่อทางการคือ ปลาคางคก โดยส่วนใหญ่จะพบตามโขดหิน แต่ก็ไม่บ่อยนัก


ขณะที่ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า ปลาคางคกนั้น ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เคยให้ข้อมูลว่า “ปลาคางคก” หรือ “ปลาอุบ” ไม่ใช่เป็นปลาประหลาดหรือสัตว์กลายพันธุ์แต่ประการใด และไม่ต้องตกใจ เพราะทั่วโลกปลาคางคกมีประมาณ 80 ชนิด บางทีส่งเสียงร้องขู่หรือเรียกความสนใจของปลาเพศเมีย


“ผมเคยเจอสมัยเด็กๆ ลงไปเดินแถวๆ แนวหิน เจ้านี่โผล่มาร้องอุบๆ เป็นเสียงความถี่ต่ำที่เกิดจากการขยับถุงลม บางทีจึงเรียกว่า ปลาอุบ ชาวบ้านบางพื้นที่กินปลากลุ่มนี้ เอามาทำแกงกะทิ นิยมเฉพาะบางพื้นที่ เลยไม่มีขายทั่วไปในตลาด ทำให้คนส่วนมากอาจไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจว่าเป็นปลาพิสดารหรือกลายพันธุ์เหมือนในหนังสัตว์ประหลาดนะครับ” ดร.ธรณ์ ระบุ


อย่างไรก็ตาม ปลาอุบเป็นปลาน้ำกร่อย ที่พบอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำ บริเวณที่น้ำจืดและน้ำเค็มมาบรรจบกัน ทำให้ปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม รูปร่างลักษณะคล้ายก้อนหิน ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดิน บางครั้งจะพรางตัวอยู่ตามขอนไม้ ไม่มีเกล็ด แต่มีพิษอ่อนๆ อยู่ที่เงี่ยงครีบหลังและครีบอก หากถูกทิ่มหรือแทงจะรู้สึกปวด ลำตัวโตเต็มที่ได้ราว 1 ฟุต ส่วนหัวและปากมีขนาดใหญ่ เพื่อที่จะสามารถกินปลาได้ทั้งตัว โดยทั่วไปจะพบในแม่น้ำสายต่างๆ ของประเทศไทย แต่จะพบมากในทะเลสาบสงขลา ส่วนใหญ่แล้วชาวประมงมักจะนำมันมาเป็นอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำมาเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงาม

ข้อมูลข่าว / ภาพ
มโนธรรม ใจหาญ จ.กระบี่ รายงาน

Related posts