รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ จ.สงขลา เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ปี 2563 (ชมคลิป)

รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ จ.สงขลา เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ปี 2563

พร้อมปล่อยขบวนรถขนย้ายเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ตั้งจุดพักคอย 4 จุดใหญ่ กรายความช่วยเหลือทั่วภาคใต้

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=zrsC1V5Cwjw[/embedyt]

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 พ.ย. 63 ที่สำนักชลประทานที่ 16 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะผู้บริหารกรมชลประทาน นำโดย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน (ฝ่ายก่อสร้าง) และ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน (ฝ่ายบำรุงรักษา) และคณะ ลงพื้นที่ประชุมติดตามความพร้อม การรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ปี 2563 พร้อมปล่อยขบวนรถขนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยมีคณะผู้บริหารกรมชลประทาน ทั้งจากส่วนกลาง และในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมให้การต้อนรับ


นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การปล่อยขบวนรถขนย้ายเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก รัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบาย ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการป้องกัน และบรรเทาภัยพิบัติอุทกภัย เตรียมความพร้อมให้สามารถดำเนินการป้องกันมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน สามารถเผชิญเหตุกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ได้ทันท่วงที

ทาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน ได้ตระหนัก และน้อมรับนโยบายดังกล่าว โดยได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก ทั้งในช่วงก่อนน้ำมา ระหว่างน้ำมา และภายหลังน้ำลด ไม่ว่าจะการบริการจัดการน้ำ ด้วยระบบชลประทาน การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมบุคลากรอย่างเต็มศักยภาพ


รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยทั่วไปจะเกิดในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนมกราคม ของทุกปี โดยการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรกลของกรมชลประทาน จะจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ที่จุดพักคอย 4 จุดใหญ่ ที่จะคอยเติมให้กับจุดย่อยในจังหวัดต่างๆ คือ สำนักงานชลประทานที่ 14 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, สำนักงานชลประทานที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราช , สำนักงานชลประทานที่ 16 จังหวัดสงขลา และสำนักงานชลประทานที่ 17 จังหวัดนราธิวาส

รวมถึงได้มีการดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ในจุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซากไว้พร้อมแล้ว ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และได้มีการสำรวจ และดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ แล้วด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของ จ.สงขลา โดยเฉพาะพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดนั้น มั่นใจว่า หากปริมาณน้ำในคลองระบายน้ำที่ 1 หรือ คลอง ร.1 ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ มีปริมาณน้ำไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที จะสามารถรับมือสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Related posts