พิธีปิดการอบรมและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” (ชมคลิป)

อยุธยา – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีปิดการอบรมและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง”

 

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=z4ETJA228o8[/embedyt]

 

วันที่ 15 กันยายน 2563 เวลา 09.15 น. ที่ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งผู้ต้องขัง ซึ่งเมื่อพันโทษไปแล้ว ให้สามารถดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการฝึก อบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” โดยมี นายสมชาย อุดมโชค ผู้บัญชาการเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวรายงาน


เรือนจำและทัณฑสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมราชทัณฑ์ จัดการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 1-14 กันยายน 2563 โดยแบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การอบรมพึ่งตนด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ และสรุปและประเมินผล โดยมีผู้ต้องขังเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา จำนวน 95 คน เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 231 คน และทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา จำนวน 136 คน การฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อสนองพระราชปณิธาน

และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มนักโทษเด็ดขาด ที่คาดว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และจะพ้นโทษในปี 2563 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 เรือนจำ และต่างจังหวัด 129 เรือนจำ รวมทั้งสิ้น 137 เรือนจำทั่วประเทศ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างตันแบบและ ส่งเสริมทักษะทางการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถบริหารจัดการพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแนวทางให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งตนเองได้ มองเห็นโอกาสในการประกอบสัมมาชีพภายหลังพันโทษ ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้ลงมือทำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้อื่นไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก สมดังพระราชปณิธานคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

เดชา – สุจินดา อุ่นขาว รายงาน

Related posts