มอบประกาศนียบัตร STMS ให้ อปท. ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ ปี 63 เน้นแนวทาง แผนการจัดการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 (ชมคลิป)

มอบประกาศนียบัตร STMS ให้ อปท. ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ ปี 63 เน้นแนวทาง แผนการจัดการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 อนาคตเตรียมยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษให้เพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=F5OSppOHrzE[/embedyt]

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุม BB 202 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพ ฯ ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพท. เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร “การส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง” ภายใต้กิจกรรมพัฒนาเครือข่าย อพท.น้อย โครงการพัฒนาและบูรณาการกลไกเครือข่ายการบริหารจัดการที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างมีเอกภาพ ให้แก่ 13 องค์กรที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS)


ดร.ชูวิทย์ กล่าวว่า “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อประสานงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระหว่าง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สามารถรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ แต่อพท. เพียงหน่วยงานเดียวไม่อาจพัฒนาการท่องเที่ยวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงต้องขยายแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรในระดับท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมาก”


และจากการเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกับ อพท.ตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีองค์กรที่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์มาตรฐานฯ แล้ว 62 องค์กร โดยมาตรฐานนี้จะเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของผลอันเกิดจากการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ รวมทั้งการปรับปรุงศักยภาพการบริหารจัดการทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งความสำเร็จในการปฏิบัติตามมาตรฐานฯ มีปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความมุ่งมั่นของบุคลากรขององค์กรในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูงที่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างจริงจัง และหากองค์กรใดมีมาตรฐานการจัดการอื่นที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกันก็สามารถนำไปบูรณาการเข้ากับมาตรฐานที่มีอยู่เดิมเพื่อผลงานที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้เกิดประสิทธิผลแก่องค์กรได้


​สำหรับปี 2563 อพท. ได้ขยายการส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังพื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว โดยได้นำมาตรฐานฯ ไปส่งเสริมในพื้นที่จังหวัดชุมพร บุรีรัมย์ ระยอง ราชบุรี สมุทรปราการ และสุรินทร์ ซึ่งแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว แต่การทำงานของ อพท. เรื่องการส่งเสริมมาตรฐานฯ โดยเฉพาะการจัดการด้านความปลอดภัย ก็ได้มุ่งเน้นไปที่มาตรการ แนวทาง แผนการจัดการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นสำคัญ

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยว และชุมชนท้องถิ่น
​สำหรับในอนาคต อพท. จะขยายการดำเนินงานในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรเจ้าของแหล่งอื่นๆ หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษที่ อพท. รับผิดชอบ รวมทั้งเตรียมความพร้อมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำมาตรฐานฯ ไปปฏิบัติ เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

Related posts