ม.เกษตร ร่วมกับชุมชนโซ่พิสัย จัดงาน “เกษตรเลอค่านาคี”ชูวิถีชุมชนสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ม.เกษตร ร่วมกับชุมชนโซ่พิสัย จัดงาน “เกษตรเลอค่านาคี”ชูวิถีชุมชนสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ และชุมชนโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ จัดกิจกรรม “เกษตรเลอค่านาคี”เชิญชวนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชาวต่างชาติ รวมถึงสื่อมวลชนทั้งไทย ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค มาร่วมสัมผัสวิถีชีวิตของคนในลุ่มแม่น้ำโขงที่เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและความเชื่อ (Isan soul) อันจะต่อยอดไปสู่การผลักดันให้เกิดการสร้างชุมชนต้นแบบ และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ

ภายในกิจกรรมมี LIVE EXHIBITION ให้สัมผัสหลากหลายรูปแบบ ทั้งการต้อนรับสไตล์อีสาน การสำรวจบ้านเรือนดูความเป็นอยู่ของคนในชุมชน การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต รวมทั้งนิทรรศการศิลปะ Fashion Live Exhibition Performer ตลอดจนร่วมรับฟังงานเสวนาในหัวข้อพิเศษสะท้อนถึงวิถีชีวิต (เกษตร) ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ (เลอค่า) ด้วยการเชื่อมโยงความเชื่อเรื่องพญานาค (นาคี) อันเป็นเอกลักษณ์และเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ของชุมชน จากนั้น ร่วมกันรับฟังดนตรีที่ผสมผสานระหว่างกลิ่นอายพื้นถิ่นจากศิลปิน KU Wind ผ่าน Sounds of Earth ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีแนวใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน ภายในงานทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เตรียมงานมาโดยเขียนเพลงที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดบึงกาฬ 4 เพลง ให้กับที่นี่โดยเฉพาะ อีกทั้งมีกิจกรรมเดินแบบแฟชั่นผ้าอีสานในอดีตจนถึงปัจจุบัน  และการแสดงดนตรีซิมโฟนีบรรเลง และขับร้องในบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ เหมือนฉากละครเพลงในต่างประเทศ งานดังกล่าวจัดภายใต้ความร่วมมือของ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ เจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก GOURMAND AWARDS จำนวน 13 ครั้ง และชาวชุมชนโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ผู้มีใจสำนึกรักในบ้านเกิดของตนเอง

คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ เจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก GOURMAND AWARDS จำนวน 13 ครั้ง ผู้มีใจสำนึกรักในบ้านเกิดของตนเอง กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ วันที่มายืนอยู่ตรงนี้ มีดนตรีซิมโฟนี ผมเองเกิดที่นี่ ก็มองว่า ผมจะเอาวิชาชีพกลับมาพัฒนาบ้านเกิด แต่สิ่งที่เราถนัดมากที่ก็คือ ศิลปะร่วมสมัย ผมเลยเอาเรื่องของศิลปะการออกแบบออกมาพัฒนาชุมชน จนมีกราฟิตี้พญานาค ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาลงพื้นที่ที่จังหวัดบึงกาฬทุกวัน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ และผมก็ไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ถ้าไม่มีเครือข่าย ไม่ได้มีคนมองเห็นสิ่งที่เราทำอยู่ ผมก็พยายามที่จะให้ จังหวัดบึงกาฬ เป็นศูนย์สร้างแรงบันดาลใจ ฉะนั้น ผมจะเอาของที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาทำให้ Local สู่เลอค่า อยากให้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนชุมชนอื่น หรือต้นแบบศูนย์เรียนรู้ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผมดีใจที่ได้มาจังหวัดบึงกาฬ การมาบึงกาฬครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่ได้มาทำอะไรเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็คิดว่าจะทำยังไงให้ชุมชนแข็งแรง และผมเองก็พูดหลายครั้งว่า ผมไม่ต้องทำให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แข็งแรง แต่ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปทำให้ชุมชนแข็งแรง ประเทศแข็งแรง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะแข็งแรงไปเอง ดังนั้นทุกองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยฯ ในประเทศไทย ผมจะเอามายกมาสู่ระดับสากลให้ได้ ไม่ได้เพื่อให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แข็งแรง แต่เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพราะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ มหาวิทยาลัยของคนไทยทุกคน ต้องเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่มี มหาวิทยาลัยฯ มาช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เมื่อมีกิจกรรมนี้เกิดขึ้น ผมก็ยินดีที่จะสนับสนุนเท่าที่มหาลัยจะทำได้ เพื่อสร้างศักยภาพบึงกาฬ และขอขอบคุณ ท่านพินิจ จารุสมบัติ ที่ช่วยเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ในการจัดงานครั้งนี้

การที่นิสิตได้มาทำกิจกรรม ณ ที่แห่งนี้ เรามองเห็นว่า นิสิตได้เรียนรู้การได้ปฏิบัติจริง ได้วิจัย แต่งเพลงขึ้นมาใหม่ ให้เข้ากับวิถีชุมชนจังหวัดบึงกาฬ เอาวิชาการที่มีมาบริการสู่ชุมชน ทำนุบำรุง ศิลปะ ที่ผนวกดนตรีตะวันออก กับตะวันตกเข้าด้วยกัน และได้รู้จักการทำงานเป็นทีม สุดท้ายเลยก็คือ เรื่องของจิตอาสาที่นิสิตจะต้องมีติดตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศนี้ต้องการ

Related posts